Your search results

วีซ่านักเรียนประเทศอเมริกา

วีซ่านักเรียนประเทศอเมริกา


ท่องเที่ยวอเมริกา, เรียนต่ออเมริกา, ท่องเที่ยวประเทศอเมริกา, เรียนต่อ อเมริกา, เรียนต่อต่างประเทศ, วีซ่าอเมริกา, ข้อมูลประเทศอเมริกา

วีซ่านักเรียนประเทศอเมริกา

ประเทศสหรัฐอเมริกาเปิดกว้างสำหรับบุคคลต่างชาติที่เดินทางมาสหรัฐอเมริกาเพื่อเข้ารับการศึกษา โดยทั่วไปแล้ว ชาวต่างประเทศที่มีความประสงค์เดินทางเข้าสหรัฐอเมริกาต้องได้รับวีซ่าสหรัฐอเมริกาก่อน วีซ่านี้จะติดไว้ในหนังสือเดินทางของผู้เดินทาง โดยมีทั้งวีซ่าชั่วคราวและวีซ่าถาวรและหากต้องการจะเรียนต่อในสหรัฐอเมริกาจะต้องมีวีซ่านักเรียน

ก่อนทำการยื่นคำร้องขอวีซ่าผู้สมัครที่เป็นนักเรียนทุกคนจะต้องได้รับการตอบรับให้เข้ารับการศึกษาจากทางโรงเรียนหรือโครงการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อมีการตอบรับทางโรงเรียนจะส่งเอกสารยืนยันให้กับผู้สมัครแต่ละคน เพื่อนำมาใช้ยื่นประกอบการยื่นคำร้องขอวีซ่านักเรียน

ประเภทของวีซ่านักเรียนมีอะไรบ้าง

ประเภทและระดับการศึกษา ประเภทของวีซ่า
University or College
มหาวิทยาลัยหรือวิทยาลัย
F
High School

โรงเรียนมัธยม

Private elementary school

โรงเรียนประถมศึกษาเอกชน

Seminary

โรงเรียนสอนศาสนา

Conservatory

โรงเรียนสอนดนตรี

Another academic institution, including a language training program

สถาบันการศึกษาประเภทอื่นรวมถึงโปรแกรมสอนภาษา

Vocational or other recognized nonacademic institution, other than a language training program

สถาบันสอนวิชาชีพหรือสถาบันสอนอื่นๆที่ไม่ใช่วิชาการรวมทั้งสถาบันอื่นที่ไม่ใช่โปรแกรมสอนภาษา

M

รายละเอียดและคุณสมบัติของวีซ่าแต่ละประเภท

  • วีซ่า F-1 วีซ่าประเภทนี้เป็นวีซ่าหลักที่ออกให้แก่นักเรียนส่วนใหญ่ ในกรณีที่ต้องการเข้าเรียนในสหรัฐอเมริกาตามสถานศึกษาที่ผ่านการรับรองแล้วเช่น วิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัยที่ผ่านการรับรอง โรงเรียนเอกชนระดับประถมศึกษา หรือโปรแกรมสอนภาษาอังกฤษที่ผ่านการอนุมัติ ผู้สมัครต้องมีวีซ่าประเภท F-1 รวมไปถึงผู้ที่ต้องการเข้าเรียนในหลักสูตรอื่นๆที่มากกว่า 18 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ก็ต้องใช้วีซ่าประเภท F-1 เช่นกัน
  • วีซ่า M-1 ในกรณีที่มีความประสงค์จะเข้ารับการศึกษาในด้านวิชาชีพ หรือด้านอื่นๆที่นอกเหนือจากด้านวิชาการ หรือเข้าฝึกอบรมใดๆที่จัดโดยสถาบันในสหรัฐอเมริกา ผู้สมัครจะต้องมีวีซ่าประเภท M-1

โดยสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวีซ่าแต่ละประเภทและโอกาสทางการศึกษาในสหรัฐอเมริกาได้ที่เว็บไซต์ Education USA


โรงเรียนรัฐบาลในสหรัฐอเมริกาที่นักเรียนต่างชาติควรทราบ

กฎหมายสหรัฐฯไม่อนุญาตให้นักเรียนต่างชาติเข้าเรียนโรงเรียนของรัฐในระดับชั้นประถมศึกษา (อนุบาลถึงเกรด 8) หรือโครงการศึกษาระดับผู้ใหญ่ที่รัฐออกทุนให้ ดังนั้นจึงไม่สามารถออก F-1 ให้นักเรียนต่างชาติที่ต้องการเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนประเภทดังกล่าวได้

วีซ่าประเภท F-1 ใช้ได้สำหรับผู้สมัครที่เข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนของรัฐในระดับมัธยมศึกษา (เกรด 9 ถึง 12) โดยที่นักเรียนจะสามารถเข้าเรียนที่โรงเรียนดังกล่าวได้สูงสุดไม่เกิน 12 เดือน โรงเรียนต้องระบุในแบบฟอร์ม I-20 มาด้วยว่า ว่านักเรียนชำระค่าธรรมเนียมในการศึกษาเอง ครบถ้วนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

คุณสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวีซ่าประเภท F-1 ได้จากเว็บไซต์ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ

หมายเหตุ: ผู้ถือวีซ่าประเภท A, E, F-2, G, H-4, J-2, L-2, M-2 หรือวีซ่าชั่วคราวสำหรับผู้ติดตามประเภทอื่นๆสามารถเข้าเรียนในโรงเรียนประถมและมัธยมศึกษาของรัฐได้


สมัครเรียนที่ประเทศสหรัฐอเมริกาจะต้องทำอย่างไรบ้าง

  1. ทำความรู้จักและเลือกหลักสูตร สถาบันและเมืองที่ต้องการเรียนต่อในประเทศสหรัฐอเมริกา รวมทั้งช่วงระยะเวลาที่เปิดรับสมัคร
  2. เตรียมเอกสารที่ใช้ในการสมัครเรียน ได้แก่
    • หนังสือเดินทางเล่มปัจจุบันที่มีอายุใช้งานคงเหลือมากกว่าระยะเวลาที่ตั้งใจจะอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาอย่างน้อยหกเดือน
    • รูปถ่ายหน้าตรง
    • วุฒิบัตรการศึกษาสูงสุดและใบระเบียนผลการเรียนล่าสุด
    • เอกสารรับรองสถานภาพการเป็นนักเรียน/นักศึกษา หรือเอกสารใบคาดว่าจะจบ (ในกรณีที่ยังเรียนอยู่ปีการศึกษาสุดท้าย)
    • ผลคะแนนทักษะทางด้านภาษาอังกฤษ เช่น IELTS หรือ TOEFL หรือ PTE
    • ผลคะแนน GRE/GMAT/SAT
    • ประวัติส่วนตัวโดยย่อ (Resume) และ/หรือแฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio)
    • Recommendation Letters จดหมายแนะนำตัวจากอาจารย์หรือหัวหน้างานอย่างน้อย 2-3 ฉบับ (บางหลักสูตรที่คุณเลือกเรียนอาจขอเอกสารนี้)
    • Statement of Purpose (SOP) หนังสือชี้แจงวัตถุประสงค์ในการเรียน (บางหลักสูตรที่คุณเลือกเรียนอาจขอเอกสารนี้)
    • Experience Letter อาจถูกขอในกรณีที่มี gap ใน Resume ระหว่างเรียนหรือการทำงานมากกว่า 6 เดือน
    • เกียรติบัตร ใบประกาศนียบัตรหรือวุฒิบัตรอื่นๆที่คุณเคยฝึกงาน เข้าร่วมกิจกรรม ได้รางวัลหรือมีประสบการณ์อื่นๆที่น่าสนใจและนำเสนอความสามารถของคุณ
    • Bank Statement จดหมายรับรองบัญชีทางการเงินเพื่อสนับสนุนการเรียนในสหรัฐอเมริกาของคุณ ต้องเป็นบัญชีที่มีการเคลื่อนไหวและขอประวัติการเดินบัญชีย้อนหลัง 6 เดือนจากธนาคารเจ้าของบัญชี
    • Affidavit of Support หนังสือรับรองการสนับสนุนทางการเงินจากสปอนเซอร์ (ถ้ามี)

หมายเหตุ: เอกสารทั้งหมดต้องได้รับการแปลและรับรองฉบับภาษาอังกฤษด้วย

  1. ส่งใบสมัครเรียนกับทางสถาบันที่ต้องการศึกษาต่อ หรือสามารถสมัครผ่านทางศูนย์ฯ เดอะเบสท์ได้เลย และชำระค่าสมัครเรียน
  2. บางสถาบันการศึกษาอาจให้นักเรียนทำการสัมภาษณ์ก่อน จากนั้นถึงประกาศผลและตอบรับเข้าเรียน
  3. เมื่อได้รับการตอบรับเข้าศึกษาต่อแล้ว ชำระค่ามัดจำการเรียน 1 เทอมหรือ 1 ปี หรือบางสถาบันอาจต้องชำระค่าเรียนทั้งหมดก่อน
  4. รับเอกสารรับรองการชำระค่าเรียน และจดหมายรับรองการเรียน รวมถึงเอกสารแบบฟอร์ม I-20 ซึ่งเป็นแบบฟอร์มทางการของรัฐบาลสหรัฐฯและออกให้โดยสถาบันการศึกษาที่ผ่านการรับรองแล้ว ซึ่งแบบฟอร์ม I-20 นี้จะเป็นหลักฐานยืนยันการตอบรับให้เข้าศึกษา และมีข้อมูลที่จำเป็นต้องใช้สำหรับการชำระค่าธรรมเนียม SEVIS I-901 รวมถึงเป็นหลักฐานที่ต้องใช้ในการยื่นคำร้องขอวีซ่า ขอเปลี่ยนสถานะของวีซ่า ตลอดจนการขอเข้าประเทศสหรัฐอเมริกา แบบฟอร์ม I-20 จะมีหมายเลข SEVIS ประจำตัวของนักเรียน ซึ่งขึ้นต้นด้วยตัวอักษร N และตามด้วยตัวเลขเก้าหลักอยู่ที่ด้านบนทางขวามือเหนือบาร์โค้ด
  5. ชำระค่าธรรมเนียม SEVIS หรือโปรแกรมระบบฐานข้อมูลนักเรียนและนักเรียนในโครงการแลกเปลี่ยน (SEVIS) กำหนดให้สถาบันการศึกษาและโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยนตรวจสอบสถานะการลงทะเบียนเรียนของนักเรียนและนักเรียนแลกเปลี่ยนต่างชาติทั้งผู้ที่มาศึกษาใหม่และที่กำลังศึกษาอยู่แล้วทั้งหมด ดังนั้นผู้สมัครวีซ่านักเรียนต้องชำระค่าธรรมเนียม SEVIS ก่อนจึงจะสามารถออกวีซ่าได้ค่าธรรมเนียม SEVIS สำหรับนักเรียนที่มีแบบฟอร์ม I-20 คือ 350 เหรียญสหรัฐ ผู้สมัครจะต้องยื่นหลักฐานการชำระค่าธรรมเนียมนี้ก่อน คำร้องขอวีซ่านักเรียนของนักเรียนจึงจะได้รับพิจารณาอนุมัติ

ช่องทางในการชำระค่าธรรมเนียม SEVIS

    • ทางสถาบันการศึกษาเป็นผู้เรียกเก็บพร้อมกับค่าสมัครเรียน
    • ชำระเองในภายหลัง โดยต้องใช้บัตรเครดิตในการทำรายการ ซึ่งหากนักเรียนไม่มีบัตรเครดิต ทางศูนย์ฯ เดอะเบสท์จะเป็นตัวแทนในการชำระให้โดย

– ชำระผ่านเว็บไซต์ www.FMJfee.com โดยนักเรียนต้องกรอกฟอร์ม I-901 และชำระเงินโดยหักจากบัตร Visa, Master หรือ American Express

– ส่งแบบฟอร์ม I-901 ที่ดาวน์โหลดจากเว็บไซต์ www.FMJfee.com พร้อมทั้งซื้อดราฟท์จำนวน USD100 สั่งจ่าย “The Department of Homeland Security, Immigration and Customs Enforcement”

ที่อยู่ส่งด่วน: I-901 Student/Exchange Visitor Processing Fee, 1005 Convention Plaza, St. Louis, MO 63101 USA

ที่อยู่ส่งไปรษณีย์ธรรมดา: I-901 Student/Exchange Visitor Processing Fee, PO Box 970020, St. Louis, MO 63197-0020

ข้อควรรู้เกี่ยวกับค่าธรรมเนียม SEVIS

    • ผู้สมัครที่ต้องชำระค่าธรรมเนียม SEVIS ได้แก่ นักศึกษาใหม่/นักศึกษาในโครงการแลกเปลี่ยนที่จะเข้าไปศึกษาต่อที่สหรัฐฯ
    • หรือผู้ที่เคยได้รับวีซ่านักเรียนและกลับมาอยู่ประเทศไทยนานเกินกว่า 5 เดือน และต้องการเดินทางกลับเข้าไปศึกษาในสหรัฐฯใหม่
    • กรณีได้รับ I-20 มากกว่า 1 สถาบันการศึกษานักเรียนจะต้องชำระค่าธรรมเนียม SEVIS ครั้งเดียวเท่านั้น และเมื่อนักเรียนเปลี่ยนใจไปเรียนกับอีกสถาบันหนึ่งต่างจากที่ระบุไว้ใน I-901 นักเรียนสามารถโอนค่าธรรมเนียมที่เคยชำระครั้งแรกเป็นของสถาบันการศึกษาใหม่ได้ หรือกรณีที่นักเรียนย้ายออกจากสถาบันการศึกษาแห่งแรกให้นักเรียนนำสำเนา I-20 แนบสำเนาใบเสร็จแจ้งสถาบันการศึกษาแห่งใหม่ได้
    • ค่าธรรมเนียม SEVIS มีอายุ 1 ปีเท่านั้น และนักเรียนสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ice.gov/sevis

เอกสารที่ต้องใช้ในการยื่นคำร้องขอวีซ่านักเรียนสหรัฐอเมริกา

การยื่นคำร้องขอวีซ่าประเภท F หรือ M ผู้ยื่นคำร้องจะต้องยื่นเอกสารต่อไปนี้

  • ใบคำร้องขอวีซ่าชั่วคราวในระบบอิเล็กทรอนิกส์ (DS-160) สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้จากเว็บเพจ DS-160
  • หนังสือเดินทางที่สามารถใช้เดินทางไปประเทศสหรัฐอเมริกาได้ โดยหนังสือเดินทางนั้นจะต้องมีอายุใช้งานคงเหลือมากกว่าระยะเวลาที่ตั้งใจจะอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาอย่างน้อยหกเดือน (นอกจากได้รับการยกเว้นจากข้อตกลงรายประเทศ) สำหรับผู้ที่ใช้หนังสือเดินทางร่วมกับผู้เยาว์ โปรดทราบว่าแต่ละคนที่ต้องการวีซ่าจะต้องยื่นใบคำร้องขอวีซ่าแยกกัน
  • รูปถ่ายขนาด 2×2″ (5 ซม.x5 ซม.) ที่ถ่ายไว้ไม่เกินหกเดือนหนึ่ง (1) ใบ รายละเอียดเกี่ยวกับข้อกำหนดของรูปถ่ายสามารถหาได้จากเว็บเพจนี้
  • ใบเสร็จชำระเงินค่าธรรมเนียมวีซ่าชั่วคราวในสกุลเงินท้องถิ่นที่เทียบเท่ากับ 160 ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าธรรมเนียมนี้ไม่สามารถขอคืนได้ เว็บเพจนี้มีข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการชำระค่าธรรมเนียมดังกล่าว ในบางกรณีหากวีซ่าผ่านการอนุมัติแล้ว ยังอาจต้องชำระค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมในการออกวีซ่า โดยจะขึ้นอยู่กับสัญชาติของผู้ยื่นคำร้อง เว็บไซต์ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯมีข้อมูลที่ช่วยระบุว่าจะต้องชำระค่าธรรมเนียมในการออกวีซ่าหรือไม่ รวมถึงอัตราค่าธรรมเนียมดังกล่าว
  • แบบฟอร์ม I-20 ที่มีลายเซ็บรับรองจากทางโรงเรียนหรือโครงการในสหรัฐอเมริกา
  • เอกสารด้านการเงินและเอกสารอื่นๆที่จะช่วยสนับสนุนใบคำร้องของผู้ยื่นคำร้อง และมีความน่าเชื่อถือในการยืนยันว่าผู้ยื่นคำร้องมีทุนทรัพย์เพียงพอสำหรับการชำระค่าธรรมเนียมในการศึกษาของปีแรก ทั้งยังต้องสามารถบ่งบอกว่าจะสามารถนำเงินดังกล่าวมาใช้จ่ายได้อย่างเพียงพอตลอดระยะเวลาที่อาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา สำหรับผู้สมัคร M-1 จะต้องแสดงหลักฐานยืนยันความสามารถในการชำระค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าใช้จ่ายประจำวันตลอดระยะเวลาที่ตั้งใจจะพำนักอยู่

นอกจากเอกสารที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ต้องแสดงใบนัดสัมภาษณ์เพื่อยืนยันว่าผู้ยื่นคำร้องได้จองเวลานัดสัมภาษณ์ผ่านบริการนี้เรียบร้อยแล้ว และยังสามารถนำเอกสารประกอบอื่นๆ ที่เชื่อว่าจะให้ข้อมูลเพิ่มเติมแก่เจ้าหน้าที่กงสุลได้ติดตัวมาด้วย

 สอบถามข้อมูลการบริการเพิ่มเติมติดต่อ
โทร: 090-327 3558088-269 5099
Email: contact@thebest-edu.com
Line@thebestedu หรือคลิกเพิ่มเพื่อนด้านล่างได้เลยค่ะ

เพิ่มเพื่อน


วิธีการสมัครวีซ่านักเรียนสหรัฐอเมริกา

ลำดับ คำอธิบายวิธีการ
ขั้นตอนที่ 1 กรอกใบคำร้องขอวีซ่าชั่วคราวในระบบอิเล็กทรอนิกส์ (DS-160)
ขั้นตอนที่ 2 ชำระค่าธรรมเนียมในการยื่นคำร้องขอวีซ่า จำนวน 160 เหรียญสหรัฐ
ขั้นตอนที่ 3

 

ทำการนัดสัมภาษณ์วีซ่าผ่านเว็บนี้ คุณจะต้องใช้ข้อมูลต่อไปนี้ในการทำนัดสัมภาษณ์

  • หมายเลขหนังสือเดินทางของคุณ
  • หมายเลขใบเสร็จชำระค่าธรรมเนียมวีซ่าของคุณ (คลิก ที่นี่ หากคุณต้องการความช่วยเหลือในการค้นหาหมายเลขดังกล่าว)
  • หมายเลขบาร์โค้ดสิบ (10) หลักที่ระบุไว้บนหน้ายืนยันแบบฟอร์ม DS-160
ขั้นตอนที่ 4

 

ไปที่สถานทูตหรือสถานกงสุลอเมริกาตามวันและเวลาที่คุณมีนัดสัมภาษณ์ คุณต้องนำใบยืนยันนัดสัมภาษณ์ ใบยืนยัน DS-160 ของคุณ รูปถ่ายที่ถ่ายไว้ไม่เกินหกเดือนหนึ่งใบ หนังสือเดินทางเล่มปัจจุบันและเล่มเก่าทั้งหมด และใบเสร็จการชำระเงินค่าธรรมเนียมวีซ่าตัวจริงมาด้วย คำร้องที่ไม่มีเอกสารทั้งหมดข้างต้นจะไม่ได้รับการพิจารณา

 


เอกสารประกอบในการยื่นคำร้องขอวีซ่า

เอกสารเพิ่มเติมในการยื่นคำร้องขอวีซ่าเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้นที่เจ้าหน้าที่กงสุลจะนำมาพิจารณาประกอบการสัมภาษณ์ โดยเจ้าหน้าที่กงสุลจะตัดสินใบคำร้องแต่ละกรณีโดยดูจากปัจจัยด้านอาชีพ สังคม วัฒนธรรม และปัจจัยอื่นๆที่มีอยู่ขณะที่ทำการพิจารณา โดยอาจดูจากเจตนา สถานการณ์ด้านครอบครัว แผนระยะยาวของผู้ยื่นคำร้อง ตลอดจนสถานการณ์ภายในประเทศที่ผู้ยื่นคำร้องอาศัยอยู่ ซึ่งแต่ละกรณีจะได้รับการพิจารณาเป็นรายบุคคลภายใต้กฎหมาย

ข้อควรระวัง: อย่าแสดงเอกสารปลอม การหลอกลวงหรือการกรอกข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงอาจทำให้เสียสิทธิ์ในการร้องขอวีซ่าอย่างถาวร หากมีความกังวลเรื่องความลับของข้อมูล ควรนำเอกสารต่างๆ ใส่ซองปิดผนึกมายังสถานทูตหรือสถานกงสุลอเมริกาด้วยตนเอง สถานทูตหรือสถานกงสุลอเมริกาจะไม่เปิดเผยข้อมูลของผู้ยื่นคำร้องต่อผู้ใดและจะเคารพข้อมูลที่เป็นความลับของผู้ยื่นคำร้อง

ในการนัดสัมภาษณ์วีซ่าชั่วคราวคุณต้องมีข้อมูลและเอกสารดังต่อไปนี้

  • หนังสือเดินทางสำหรับเดินทางไปประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีอายุใช้งานคงเหลือมากกว่าระยะเวลาที่คุณตั้งใจจะอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาอย่างน้อยหกเดือน (นอกจากได้รับการยกเว้นจากข้อตกลงรายประเทศ) สำหรับผู้ที่ใช้หนังสือเดินทางร่วมกับผู้เยาว์โปรดทราบว่าแต่ละคนที่ต้องการวีซ่าจะต้องยื่นใบคำร้องขอวีซ่าแยกกัน
  • ใบเสร็จรับเงินค่าธรรมเนียมในการยื่นคำร้องขอวีซ่าของผู้ยื่นคำร้อง
  • หน้ายืนยันแบบฟอร์ม DS-160
  • อีเมลแอดเดรสของผู้ยื่นคำร้องและ
  • เอกสารที่จำเป็นต้องนำมาตามข้อกำหนดของวีซ่าแต่ละประเภท (เช่น ใบคำร้องที่ได้รับการอนุมัติเรียบร้อยแล้วสำหรับผู้สมัครวีซ่าประเภทที่ต้องได้รับอนุมัติคำร้อง สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเภทของวีซ่าและข้อมูลเกี่ยวกับวีซ่าแต่ละประเภทได้ ที่นี่)

ควรนำเอกสารต่อไปนี้มาในวันสัมภาษณ์ด้วย

  • เอกสารที่เป็นหลักฐานยืนยันความผูกพันอย่างแน่นแฟ้นในด้านการเงิน สังคม และครอบครัวที่มีต่อประเทศของผู้ยื่นคำร้อง ที่แสดงได้ว่าผู้ยื่นคำร้องจะต้องเดินทางกลับมายังประเทศของตนเองหลังจากโครงการศึกษาในสหรัฐอเมริกาสิ้นสุดลง
  • ไม่สามารถใช้สำเนาใบแจ้งยอดบัญชีจากธนาคารยื่นประกอบได้ เว้นแต่ในกรณีที่ผู้ยื่นคำร้องนำใบแจ้งยอดบัญชีจากธนาคารตัวจริงหรือสมุดเงินฝากติดตัวมาแสดงด้วย
  • ในกรณีที่ผู้ยื่นคำร้องได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากบุคคลอื่น ให้นำหลักฐานแสดงความสัมพันธ์ที่มีต่อผู้ให้การสนับสนุนนั้น (เช่นสูติบัตร) แบบฟอร์มผู้เสียภาษีตัวจริงของผู้สนับสนุน สมุดเงินฝากและ/หรือใบรับรองเงินฝากประจำ
  • เอกสารเกี่ยวกับการศึกษาที่แสดงถึงความเตรียมพร้อมด้านการศึกษา ตัวอย่างเช่น ใบรับรองผลการศึกษาของโรงเรียน (ควรนำตัวจริงมาแสดง) ที่มีรายละเอียดผลการศึกษาระบุไว้ ใบประกาศนียบัตรยืนยันการผ่านการสอบวัดระดับตามระบบการศึกษาของอังกฤษ (A-levels ฯลฯ) ผลการสอบที่มีมาตรฐาน (SAT, TOEFL ฯลฯ) และประกาศนียบัตรอื่นๆ

ค่าธรรมเนียมและทางเลือกการชำระค่าธรรมเนียมวีซ่า

อัตราค่าธรรมเนียมสำหรับผู้สมัครวีซ่านักเรียน ประเภท F (นักเรียนสายวิชาการ) และ M (นักเรียนสายวิชาชีพ) คือ 160 เหรียญสหรัฐ หรือ ประมาณ 5,440.00 บาท (อัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบันนี้จะมีผลใช้ได้จนถึง 12/09/2021) ข้อมูลมีการอัพเดตจากอัตราแลกเปลี่ยน คุณสามารถตรวจสอบได้จากเว็บไซต์นี้

การโอนเงินด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ – Electronic Funds Transfer (EFT)

ผู้สมัครสามารถชำระค่าธรรมเนียมยื่นคำร้องขอวีซ่าชั่วคราวด้วยการโอนเงินด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (EFT) โดยตรงจากบัญชีธนาคารของผู้สมัคร โปรดทราบว่าธนาคารเจ้าของบัญชีของผู้สมัครอาจมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการโอนเงินด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์นี้ หากผู้สมัครสร้างโปรไฟล์ยื่นคำร้องขอวีซ่าพร้อมผู้ติดตาม (ที่เป็นครอบครัวหรือกลุ่ม) มาจากในระบบนัดหมาย ผู้สมัครชำระเงินเพียงครั้งเดียว (โปรดตรวจสอบให้แน่ใจว่าจำนวนค่าธรรมเนียมวีซ่าบนคำแนะนำชำระค่าธรรมเนียมวีซ่าถูกต้องตามจำนวนผู้สมัครทั้งหมดในหมู่คณะของคุณ

  1. ล็อกอินโพรไฟล์ เมื่อถึงหน้าชำระค่าธรรมเนียมวีซ่า เลือกการโอนเงินด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (EFT) เลขที่อ้างอิง Virtual Account ID จะปรากฎบนหน้าจอ ผู้สมัครต้องใช้เลขที่อ้างอิงนี้ ในการดำเนินการโอนเงินด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (EFT) ออนไลน์
  2. ผู้สมัครทำการชำระเงินเพียงครั้งเดียว ต่อ เลขที่อ้างอิง Virtual Account ID เท่านั้น เพราะคุณไม่สามารถโอนเปลี่ยนให้ผู้สมัครผู้อื่นหรือขอค่าธรรมเนียมวีซ่าคืนได้ในทุกกรณีเป็นความรับผิดชอบของผู้สมัคร ที่ต้องเก็บเลขที่อ้างอิง Virtual Account ID ไว้เป็นหลักฐานในการทำนัดหมายสัมภาษณ์วีซ่า
  3. ใส่ชื่อธนาคารผู้รับเงินที่ระบุด้านล่างในการโอนเงินอิเล็กทรอนิกส์เพื่อทำให้การโอนเงิน (ACH Transfer-SMART) ของคุณสมบูรณ์กรุณาชำระเป็นเงินบาทเท่านั้น
    ธนาคารผู้รับเงิน: Bank of America N.A., Bangkok Branch
    SWIFT CODE: BOFATH2X
    Bank Sort Code: 0270001
    เลขที่อ้างอิง: เลขที่อ้างอิง Virtual Account ID ของผู้สมัคร
    จำนวน: 5,440.00 กรุณาชำระเป็นเงินบาทเท่านั้น
  4. เมื่อผู้สมัครชำระค่าธรรมเนียมวีซ่าแล้ว สามารถทำการนัดหมายสัมภาษณ์วีซ่าได้ตามตารางระยะเวลาที่ผู้สมัครสามารถทำการนัดหมายสัมภาษณ์วีซ่าได้หลังจากชำระค่าธรรมเนียมวีซ่าแล้วด้านล่าง กรุณาล็อกอินเข้าโพรไฟล์ของคุณในระบบเพื่อทำการนัดหมายสัมภาษณ์วีซ่าของคุณด้วยเลขที่อ้างอิง Virtual Account ID

การชำระเงินสดที่ธนาคาร

ผู้สมัครสามารถชำระค่าธรรมเนียมยื่นคำร้องขอวีซ่าชั่วคราว ด้วยเงินสดได้ที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ทุกสาขาในประเทศไทย

ผู้สมัครต้องพิมพ์ใบแนะนำการชำระค่าธรรมเนียมวีซ่าสหรัฐฯ และ ใบนำฝากเงินของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จากระบบก่อน นำทั้งสองรายการไปชำระค่าธรรมเนียมวีซ่าที่ธนาคาร โปรดคลิก https://www.krungsri.com/bank/en/Bank-Locations-and-Branches/BranchLocations.html เพื่อดูที่ตั้งสาขาต่างๆของธนาคาร

  1. ล็อกอินโพรไฟล์ เมื่อถึงหน้าชำระค่าธรรมเนียมวีซ่า เลือก ชำระเงินสดที่ธนาคาร
  2. พิมพ์ใบแนะนำการชำระค่าธรรมเนียมวีซ่า ที่ระบุเลขที่อ้างอิง Virtual Account ID และ เลขที่อ้างอิง CGI ที่ต้องนำไปใช้ในการชำระค่าธรรมเนียมวีซ่าที่ธนาคาร
  3. พิมพ์ใบนำฝากเงินของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จากระบบก่อน ธนาคารจะดำเนินการรับชำระค่าธรรมเนียมวีซ่าด้วยใบนำฝากเงินของธนาคาร นำทั้งสองรายการไปชำระค่าธรรมเนียมวีซ่าที่ธนาคาร
  4. นำใบแนะนำการชำระค่าธรรมเนียมวีซ่าสหรัฐฯ และ ใบนำฝากเงินของธนาคารกรุงศรีอยุธยาทั้งสองรายการไปชำระค่าธรรมเนียมวีซ่าที่ธนาคาร โดยแจ้งเลขที่อ้างอิง Virtual Account ID และ เลขที่อ้างอิง CGI ในการชำระค่าธรรมเนียมวีซ่าที่ธนาคาร หากไม่มีเลขที่อ้างอิงดังกล่าว หรือ ชำระจำนวนเงินไม่ถูกต้อง ผู้สมัครจะไม่สามารถทำการนัดสัมภาษณ์ได้
  5. ใบนำฝากเงินของธนาคารกรุงศรีอยุธยามี 2 ส่วน หลังจากธนาคารรับชำระค่าธรรมเนียมวีซ่าแล้ว เจ้าหน้าที่ธนาคารจะคืนสำเนาใบฝากเงิน (ส่วนของลูกค้า พร้อมตราประทับ)กรุณาเก็บไว้เป็นหลักฐาน ธนาคารไม่สามารถออกฉบับใหม่ได้หากสูญหาย ผู้สมัครจะไม่สามารถทำการนัดหมายสัมภาษณ์วีซ่าได้หากไม่มีสำเนาใบฝากเงินฉบับนี้
  6. เมื่อผู้สมัครชำระค่าธรรมเนียมวีซ่าแล้ว สามารถทำการนัดหมายสัมภาษณ์วีซ่าได้ตามตารางระยะเวลาที่ผู้สมัครสามารถทำการนัดหมายสัมภาษณ์วีซ่าได้หลังจากชำระค่าธรรมเนียมวีซ่าแล้วด้านล่าง กรุณาล็อกอินเข้าโพรไฟล์ของคุณในระบบเพื่อทำการนัดหมายสัมภาษณ์วีซ่าของคุณด้วยเลขที่อ้างอิง Virtual Account ID

คลิก ที่นี่ สำหรับใบนำฝากเงินของธนาคารกรุงศรีอยุธยา

คำเตือน: ใบคำแนะนำการชำระค่าธรรมเนียมวีซ่ามีวันหมดอายุ เนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราอาจมีการเปลี่ยนแปลง หากใบคำแนะนำการชำระค่าธรรมเนียมวีซ่าหมดอายุก่อนที่ผู้สมัครจะได้ทำการชำระเงิน กรุณากลับมาที่ระบบใหม่และเลือกลิงค์ด้านล่างเพื่อพิมพ์ใบคำแนะนำในการชำระค่าธรรมเนียมวีซ่าใหม่ ธนาคารจะไม่รับชำระค่าธรรมเนียมวีซ่าหากคำแนะนำในการชำระค่าธรรมเนียมวีซ่าของผู้สมัครหมดอายุ ผู้สมัครจะได้รับสำเนาใบฝากเงิน ส่วนของลูกค้า พร้อมตราประทับใช้แทนใบเสร็จรับเงินเพื่อเป็นหลักฐานจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา กรุณาเก็บรักษาสำเนาใบฝากเงิน ส่วนของลูกค้านี้ไว้ เพื่อนำเลขที่อ้างอิง Virtual Account ID ในใบเสร็จรับเงินมาทำนัดหมายสัมภาษณ์วีซ่าต่อไป หากสูญหาย ธนาคารไม่สามารถออกใบใหม่ให้ได้


ทำการนัดหมายวันสัมภาษณ์วีซ่า

ผู้สมัครทำนัดหมายสัมภาษณ์วีซ่าได้ทาง ออนไลน์ หรือ เจ้าหน้าที่คอลเซนเตอร์ โดยใช้เลขที่อ้างอิง Virtual Account ID เพื่อทำการนัดหมายสัมภาษณ์วีซ่า

ตารางแสดงระยะเวลาที่ผู้สมัครสามารถทำการนัดหมายสัมภาษณ์วีซ่าได้หลังจากชำระค่าธรรมเนียมวีซ่าแล้ว

ระยะเวลาที่ผู้สมัครสามารถทำการนัดหมายสัมภาษณ์วีซ่าได้หลังจากชำระค่าธรรมเนียมวีซ่าแล้ว
เวลาชำระค่าธรรมเนียม – โอนเงินด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (EFT)

(จันทร์ถึงศุกร์ ไม่รวมวันหยุด)

กำหนดเวลาที่เข้าไปทำการนัดหมายสัมภาษณ์วีซ่าได้
เริ่มวันจน 14:00 น. 2 วันถัดไป: หลัง 12:00 น.
เวลาชำระค่าธรรมเนียม – ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (จันทร์ถึงศุกร์ ไม่รวมวันหยุด) กำหนดเวลาที่เข้าไปทำการนัดหมายสัมภาษณ์วีซ่าได้
ทุกเวลา ณ สาขาของธนาคารกรุงศรีอยุธยา วันทำการถัดไป หลัง 12:00 น.

ข้อจำกัดของการเปลี่ยนแปลงนัดสัมภาษณ์วีซ่า

ระบบของสถานทูตจะให้ผู้สมัครทำการนัดและเปลี่ยนแปลงนัดสัมภาษณ์วีซ่า ได้ทั้งสิ้น 3 ครั้ง โปรดวางแผนล่วงหน้าเพื่อให้ไม่ต้องชำระค่าธรรมเนียมการสมัครขอวีซ่าใหม่ซ้ำ

VISA TIP

ผู้สมัครวีซ่าที่มีสัญชาติไทย และมีนัดสัมภาษณืวีซ่าประเภท F, H, L หรือ R ต้องนำเงินสดหรือบัตรเครดิตติดตัวมาด้วยในวันสัมภาษณ์วีซ่า เพื่อชำระค่าหลักปฏิบัติต่างตอบแทน (Reciprocity Fee)

Visa Class Reciprocity Fee
F Visas $40
H1/B Visas $10
L Visas $10
R Visas $10

สถานที่ยื่นวีซ่า สัมภาษณ์ และพิมพ์ลายนิ้วมือ

สถานทูตอเมริกา กรุงเทพฯ ประเทศไทย แผนกกงสุล

  • ที่อยู่: 95 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330 ประเทศไทย8
  • แฟกซ์: +66 2 254 1171
  • เว็บไซต์: http://th.usembassy.gov/
  • อีเมล: visasbkkiv@state.gov

สถานกงสุล จังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย


การติดตามสถานะหนังสือเดินทางและสถานที่รับหนังสือเดินทาง

หากสถานทูต หรือ สถานกงสุล พิจารณาออกวีซ่าเข้าประเทศสหรัฐฯ ให้กับผู้สมัคร บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด จะทำการจัดส่งหนังสือเดินทางที่มีหน้าวีซ่าให้ผู้สมัคร โดยจะทำการจัดส่งตามที่อยู่ที่ได้เลือกไว้ตอนที่ทำการนัดหมายสัมภาษณ์วีซ่า

โปรดทราบว่า ที่ทำการไปรษณีย์จะเก็บหนังสือเดินทางของผู้สมัครไว้ 7 วันเท่านั้น หากไม่มีผู้รับในการจัดส่งครั้งแรก บริษัทไปรษณีย์ไทย จะทิ้งใบแจ้งเตือนให้ผู้สมัครติดต่อให้ทำการจัดส่งเป็นครั้งที่สอง หรือ ผู้สมัครอาจนำใบแจ้งเตือนมารับภายใน 7 วัน ณ ที่ทำการไปรษณีย์ ที่ระบุไว้ในใบแจ้งเตือนนั้นก่อนเวลา 16.30 น. หากผู้สมัครไม่มารับหนังสือเดินทางภายใน 7 วัน หนังสือเดินทางจะถูกส่งไปที่ ที่ทำการไปรษณีย์รองเมือง (สำหรับผู้สัมภาษณ์วีซ่าที่สถานทูตสหรัฐฯกรุงเทพฯ) หรือ ที่ทำการไปรษณีย์เชียงใหม่ (สำหรับผู้สัมภาษณ์วีซ่าที่สถานกงสุลเชียงใหม่) ในวันจัดส่งที่ 8 ซึ่งเจ้าหน้าที่จะทำการติดต่อผู้สมัครเป็นครั้งสุดท้าย หากยังไม่มีผู้รับ หนังสือเดินทางจะถูกส่งคืน สถานทูต หรือ สถานกงสุล ที่ผู้สมัครยื่นสมัครวีซ่าในวันจัดส่งที่ 15 ต่อไป

**หากผู้สมัครเดินทางมารับหนังสือเดินทาง ณ ที่ทำการไปรษณีย์ ผู้สมัครสามารถรับหนังสือเดินทางได้ก่อนเวลา 16.30 น. เท่านั้น**

ติดตามสถานะวีซ่า

ผู้สมัครสามารถติดตามสถานะใบยื่นคำร้องขอวีซ่าได้ที่นี่website.

เปลี่ยนที่อยู่จัดส่งหนังสือเดินทาง

ผู้สมัครสามารถทำการเปลี่ยนที่อยู่ในจัดส่งหนังสือเดินทางของตนเอง ออนไลน์ หรือผ่าน เจ้าหน้าที่คอลเซนเตอร์ ภายในเที่ยงของวันทำการก่อนหน้าวันนัดหมายสัมภาษณ์จริง โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมใดๆ


ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวีซ่านักเรียนสหรัฐอเมริกา

ข้อกำหนดทางด้านการเงิน

นักเรียนต่างชาติที่ต้องการเรียนต่อในสหรัฐอเมริกาจะต้องแสดงหลักฐานทางการเงิน เพื่อยืนยันว่านักเรียนจะมีเงินทุนเพียงพอที่จะสนับสนุนค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าหนังสือเรียน ค่าที่พัก ค่าครองชีพและค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปกลับประเทศไทยและสหรัฐอเมริกา

จำนวนเงินที่จะต้องยื่นนั้นขึ้นอยู่กับหลักสูตรที่เรียน ระยะเวลาการเรียน สถาบันที่สมัครเรียน และค่าครองชีพในเมืองหรือรัฐๆนั้น นักเรียนจะต้องแสดงหลักฐานทางการเงินแก่สถาบันการศึกษาตั้งแต่ตอนที่สมัครเรียนและต้องเตรียมสำหรับการยื่นวีซ่านักเรียนด้วย

ตัวอย่างการคำนวณยอดเงินขั้นต่ำที่ต้องแจ้งสถานทูต

น้องไบร์ทต้องการเรียนหลักสูตร English as a Second Language Program (ESL) ที่ Murray State University รัฐเคนทักกี ระยะเวลาเรียน 6 เดือน สามารถคำนวณยอดเงินขั้นต่ำได้ดังนี้

ตารางแสดงวิธีการคำนวณหลักฐานการเงิน คอร์สเรียนระยะเวลา 6 เดือน ระยะเวลาวีซ่า 8 เดือน

รายการ เงินดอลลาร์สหรัฐ เงินบาท
ค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าอุปกรณ์การเรียน US$7,057 225,824 บาท
ค่าครองชีพในรัฐเคนทักกี ($1,310.5 x 8 เดือน) US$1,310.5 x 8 = US$10,484 335,488 บาท
ค่าครองชีพของผู้ติดตาม
ค่าตั๋วเครื่องบินไปกลับกรุงเทพ-เคนทักกี US$2,000 64,000 บาท
ค่าใช้จ่ายอื่นๆ US$1,500 48,000 บาท
รวมยอดเงินที่ต้องแสดง US$21,041 673,312 บาท

น้องวินต้องการเรียนหลักสูตร Master of Architecture ที่ Massachusetts Institute of Technology เมือง Cambridge รัฐ Massachusetts ระยะเวลา 2 ปี น้องวินต้องแสดงหลักฐานทางการเงินสำหรับปีการศึกษาแรกดังนี้

ตารางแสดงวิธีการคำนวณหลักฐานการเงินในปีการศึกษาแรก

รายการ

เงินดอลลาร์สหรัฐ เงินบาท
ค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าอุปกรณ์การเรียน US$53,450 1,710,400 บาท
ค่าธรรมเนียมกิจกรรมนักศึกษาต่อปี US$340 10,880 บาท
ค่าที่พักแบบ Housing (on-campus) US$8,253 264,096 บาท
ค่าอาหาร (on-campus) US$5,000 160,000 บาท
ค่าประกันสุขภาพ US$3,269 104,608 บาท
ค่าตั๋วเครื่องบินไปกลับกรุงเทพ-แคมบริดจ์ US$2,000 64,000 บาท
รวมยอดเงินที่ต้องแสดง US$72,312 2,313,984 บาท

หมายเหตุ: อัตราแลกเปลี่ยนที่ใช้คำนวณคือ US$ 1 มีค่าประมาณ 32 บาท

เนื่องจากประเทศสหรัฐอเมริกามีขนาดพื้นที่ใหญ่มากทำให้ค่าครองชีพแตกต่างกันในแต่ละเมือง และมีหลักสูตรคอร์สเรียนที่หลากหลายจากหลายสถาบันการศึกษาให้เลือกเรียน นักเรียนที่สนใจศึกษาต่อประเทศสหรัฐอเมริกาสามารถศึกษาข้อมูลค่าเรียนและค่าครองชีพเพิ่มเติมได้จากหน้าเว็บไซต์ของสถาบันการศึกษาที่ตนเองสนใจเรียนต่อ

ผู้ติดตาม

คู่สมรสและ/หรือบุตรที่มีอายุต่ำกว่า 21 ปี (ที่มีสถานภาพโสด) สามารถขอวีซ่าเพื่อติดตามผู้ถือวีซ่าหลักไปพำนักอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้ แต่อย่างไรก็ดี โปรดทราบว่าผู้ปกครองของผู้ถือวีซ่าประเภท F หรือ M จะไม่มีสิทธิ์ในการขอวีซ่าติดตามนี้ได้

สมาชิกในครอบครัวที่ไม่ได้มีความประสงค์จะอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริการ่วมกับผู้ถือวีซ่าหลัก แต่ต้องการไปเยี่ยมเพียงเพื่อการพักผ่อนเท่านั้น สามารถยื่นคำร้องขอวีซ่าเยี่ยมเยียน (B-2) ได้

คู่สมรสและผู้ติดตามจะไม่สามารถทำงานระหว่างที่พำนักอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้ขณะที่ถือวีซ่าผู้ติดติดตามประเภท F หรือ M ในกรณีที่คู่สมรส/บุตรของคุณมีความประสงค์จะทำงาน จะต้องขอยื่นขอวีซ่าสำหรับการทำงานให้ถูกประเภท

เอกสารประกอบในการยื่นคำร้องขอวีซ่าสำหรับผู้ติดตาม

ผู้สมัครที่มีผู้ติดตามต้องแสดงเอกสารดังต่อไปนี้

  • หลักฐานแสดงความสัมพันธ์ระหว่างผู้ถือวีซ่านักเรียนกับคู่สมรสและ/หรือบุตร (เช่น ใบสำคัญการสมรสและสูติบัตร)
  • โดยทั่วไปสมาชิกในครอบครัวควรเลือกยื่นคำร้องขอวีซ่าพร้อมกัน แต่ในกรณีที่คู่สมรสและ/หรือบุตรต้องยื่นคำร้องเองในภายหลัง คู่สมรสและ/หรือบุตรควรนำสำเนาหนังสือเดินทางและวีซ่าของผู้ถือวีซ่านักเรียนหลักติดตัวมาพร้อมกับเอกสารที่กำหนดไว้ทั้งหมดอื่นๆด้วย

ข้อควรรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับวีซ่านักเรียนสหรัฐอเมริกา

การฝึกอบรมวิชาชีพ

ผู้ถือวีซ่าประเภท F-1 สามารถเข้ารับการฝึกอบรมวิชาชีพเพิ่มเติมได้สูงสุด 12 เดือนหลังจบหลักสูตรที่จำเป็นทั้งหมดแล้ว (ไม่รวมถึงวิทยานิพนธ์หรือเทียบเท่า) หรือหลังดำเนินการตามข้อกำหนดทั้งหมดแล้ว การฝึกอบรมวิชาชีพหรือ OPT นั้นจะแยกออกจากการศึกษาทางด้านวิชาการของนักเรียน และโดยทั่วไปแล้วเวลาที่ใช้ในการฝึกอบรม จะไม่ถูกรวมอยู่ในวิชาเรียนของนักเรียนตลอดจนจะไม่ถูกรวมอยู่ในวันสิ้นสุดการเรียน นักเรียนที่ยื่นคำร้องขอวีซ่าประเภท F เพื่อทำ OPT จะสามารถใช้แบบฟอร์ม I-20 ที่ระบุวันสุดท้ายของการเรียนที่ได้ผ่านมาแล้วประกอบการยื่นคำร้อง ทั้งนี้แบบฟอร์ม I-20 ดังกล่าวจะต้องมีการยืนยันจากเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในโรงเรียนระบุรายละเอียดเกี่ยวกับการอนุมัติโครงการ OPT ที่จะยืดเวลาออกไปหลังจากเวลาเรียนปกติสิ้นสุดลงแล้วด้วย นอกจากนี้ นักเรียนยังต้องมีหลักฐานยืนยันว่าสำนักงาน USCIS ได้อนุมัติโครงการฝึกอบรมวิชาชีพแล้ว หรือกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาโดยการแสดงบัตรอนุญาตทำงานหรือแบบฟอร์ม I-797 ซึ่งจะแสดงว่านักเรียนคนดังกล่าวกำลังอยู่ในกระบวนการสมัครโครงการ OPT

อายุการใช้งานของวีซ่านักเรียน ในกรณีที่หยุดเรียนชั่วคราว

นักเรียนที่ไม่ได้เข้าเรียนเป็นเวลามากกว่าห้าเดือนจะต้องยื่นคำร้องขอวีซ่าประเภท F-1 หรือ M-1 ใหม่ได้ เพื่อกลับเข้าไปเรียนอีกครั้งหลังจากเดินทางไปต่างประเทศ ตามรายละเอียดที่ดังต่อไปนี้

นักเรียนที่ยังอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา

ตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าเมือง นักเรียน (F-1 หรือ M-1) สามารถเสียสถานภาพการเป็นนักเรียนได้หากไม่กลับเข้าเรียนต่อภายในห้าเดือนนับจากวันที่ได้ย้ายโรงเรียนหรือเปลี่ยนโครงการ ในกรณีที่เสียสถานภาพการเป็นนักเรียนวีซ่าประเภท F หรือ M ที่มีอยู่ก็จะไม่สามารถใช้เดินทางกลับเข้ามายังประเทศสหรัฐอเมริกาในอนาคตได้อีก ยกเว้นในกรณีที่สำนักงานUSCIS คืนสถานภาพให้ ท่านสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม และคำแนะนำเกี่ยวกับการยื่นคำร้องขอขยาย/เปลี่ยนแปลงสถานะชั่วคราวแบบฟอร์ม I-539 เพื่อขอให้ต่อสถานะได้ที่เว็บไซต์ USCIS

นักเรียนที่เดินทางจากต่างประเทศเพื่อกลับมายังสหรัฐอเมริกา

นักเรียนที่เดินทางออกจากสหรัฐอเมริการะหว่างหยุดพักเรียนเป็นเวลาห้าเดือนขึ้นไปอาจเสียสถานภาพ F-1 หรือ M-1 ได้ เว้นแต่ในกรณีที่กิจกรรมที่ปฏิบัติหรือเข้าร่วมระหว่างอยู่ต่างประเทศนั้นมีความเกี่ยวข้องกับหลักสูตรที่เรียน ก่อนการเดินทางนักเรียนควรติดต่อผู้มีอำนาจของโรงเรียนก่อนเพื่อตรวจสอบว่ากิจกรรมที่คุณตั้งใจจะไปปฏิบัติหรือเข้าร่วมนั้นมีความเกี่ยวข้องกับหลักสูตรที่เรียนหรือไม่

หากนักเรียนที่เดินทางออกจากประเทศสหรัฐอเมริกาและขาดเรียนนานกว่า 5 เดือน เดินทางกลับมาขอเข้าประเทศสหรัฐอเมริกาด้วยวีซ่าประเภท F-1 หรือ M-1 ที่เคยใช้มาก่อนและยังไม่หมดอายุ เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองสหรัฐฯ สามารถตัดสินว่าบุคคลนั้นไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศเนื่องจากไม่มีวีซ่าชั่วคราวที่ใช้งานได้อยู่ หรือหากเจ้าหน้าที่อนุญาตให้นักเรียนคนดังกล่าวยกเลิกการขอเข้าประเทศ เจ้าหน้าที่ก็จะทำการยกเลิกวีซ่าตัวนั้น ดังนั้นนักเรียนควรมีความรอบคอบเป็นอย่างยิ่งในการยื่นคำร้องขอวีซ่าใหม่ที่สถานทูตหรือสถานกงสุลอเมริกาในต่างประเทศก่อนเดินทางกลับเข้ามายังสหรัฐอเมริกาเพื่อเรียนต่อ หลังจากที่ได้ขาดเรียนมาเกินห้าเดือนด้วยเหตุผลที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับหลักสูตรที่เรียน

รูปถ่ายและการบันทึกลายนิ้วมือ

  • ข้อมูลทั่วไป
    • ในขั้นตอนการยื่นคำร้องขอวีซ่าชั่วคราว ผู้สมัครต้องแนบไฟล์รูปถ่ายดิจิตอลที่ได้ถ่ายไว้ภายในระยะเวลาไม่เกินหกเดือนในขั้นตอนการกรอกและยื่นแบบฟอร์ม DS-160 โดยจะต้องนำรูปถ่ายตัวจริงติดตัวไปในวันสัมภาษณ์วีซ่าด้วย และจะต้องผ่านการบันทึกลายนิ้วมือเมื่อมาถึงสถานทูตหรือสถานกงสุลอเมริกา
  • ข้อกำหนดเกี่ยวกับรูปถ่ายดิจิตอล
    • รูปถ่ายที่ใช้ในการยื่นคำร้องขอวีซ่าจะต้องมีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ทุกประการทั้งขนาดและสิ่งที่ปรากฏในรูป การยื่นรูปถ่ายที่ขาดคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้อาจมีผลให้กระบวนการยื่นคำร้องขอวีซ่าของท่านล่าช้า รูปถ่ายที่แนบมากับแบบฟอร์ม DS-160 จะต้องเป็นรูปที่ถ่ายไว้ไม่เกินหกเดือน และจะต้องมีคุณสมบัติตรงตามแนวทางที่ปรากฏในภาพด้านล่าง

1

  • ขนาดศีรษะ
    • ความสูงของศีรษะ เมื่อวัดจากด้านบนสุดของศีรษะซึ่งรวมผมด้วยจนถึงใต้คางจะต้องอยู่ระหว่าง 50% ถึง 70% ของความสูงของรูปถ่ายทั้งหมด ระดับดวงตาที่วัดจากด้านล่างสุดของรูปถ่ายจนถึงระดับดวงตาควรอยู่ระหว่าง 55% ถึง 70% – หรือประมาณ 2/3 ของความสูงของรูปถ่าย
  • ขนาดของรูปถ่าย
    • รูปถ่ายของท่านต้องเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ซึ่งหมายความว่าความสูงและความกว้างของรูปจะต้องเท่ากัน รูปถ่ายต้องมีขนาดไม่ต่ำกว่า 600 พิกเซล x 600 พิกเซล (สูง x กว้าง) และมีขนาดไม่เกิน 1200 พิกเซล x 1200 พิกเซล (สูง x กว้าง)

7 ขั้นตอนเพื่อให้ได้รูปถ่ายที่ถูกต้อง

  1. ทิศทางของศีรษะ ทิศทางของศีรษะเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับรูปถ่ายที่ใช้ในการสมัครขอวีซ่า ผู้สมัครจะต้องใช้รูปถ่ายที่สามารถมองเห็นใบหน้าเต็มได้ภายในกรอบของรูป มองกล้องตรงๆ และอย่าหลับตา
  2. จัดองค์ประกอบให้ดี รูปถ่ายจะต้องแสดงทั้งศีรษะตั้งแต่ด้านบนสุดของผมจนถึงบริเวณใต้คาง ในภาพที่ถูกต้องความสูงของศีรษะจะอยู่ที่ 1-1-3/8 นิ้ว (25 ถึง 35 มม.) หรือคิดเป็น 50%-70% ของรูปถ่าย ดังตัวอย่าง:2
  3. อยู่ตรงกลางของรูป จัดศีรษะให้อยู่ตรงกลางระหว่างกรอบรูปทั้งสองด้านอย่างพอดี
  4. ลืมตา ดวงตาควรอยู่ในระดับ 2/3 เมื่อวัดจากด้านล่างของรูปถ่ายขึ้นไปด้านบน หรือ 1-1/8 นิ้ว ถึง 1-3/8 นิ้ว (28 มม. ถึง 35 มม.) หรือประมาณ 60% จากด้านล่างของรูปถ่าย
  5. พื้นหลัง พื้นที่ด้านหลังรูปถ่ายควรเป็นสีขาวและไม่ควรมีสิ่งใดระเกะระกะ นั่งถ่ายรูปโดยใช้ฉากหลังที่เป็นสีขาวจะช่วยให้ได้รูปที่ดีที่สุด
  6. อย่าให้ภาพมีเงา ควรนั่งลงเพื่อให้ใบหน้าดูสว่างและจะช่วยให้ไม่เกิดเงาบนใบหน้าหรือพื้นหลัง
  7. ทำตัวตามสบายและให้ดูเป็นธรรมชาติ ควรแสดงสีหน้าอย่างเป็นธรรมชาติเมื่อถ่ายรูป ดังตัวอย่างที่แสดงไว้ที่นี่

3

4

***อย่าสวมหมวกหรือสิ่งคลุมศีรษะที่เป็นการปกปิดผมหรือแนวผมยกเว้นในกรณีที่ผู้สมัครสวมใส่ทุกวันภายใต้ข้อกำหนดทางศาสนา ในรูปถ่ายจะต้องมองเห็นทั้งใบหน้าเต็มและสิ่งปิดคลุมศีรษะจะต้องไม่ทำให้เกิดเงาบนใบหน้า

การบันทึกลายนิ้วมือ

ผู้ยื่นคำร้องขอวีซ่าจะต้องผ่านการบันทึกลายนิ้วมือที่สถานทูตหรือสถานกงสุลอเมริกา ในระหว่างขั้นตอนการสัมภาษณ์วีซ่า โดยจะมีการบันทึกลายนิ้วมือด้วยเครื่องบันทึกลายนิ้วมือดิจิตอล ทั้งนี้ผู้สมัครบางรายอาจจะไม่ต้องทำการบันทึกลายนิ้วมือ ซึ่งได้แก่:

  • ผู้สมัครที่เดินทางไปปฏิบัติภารกิจราชการของรัฐบาล ยกเว้นผู้สมัครวีซ่าประเภท A-3 และ G-5
  • ผู้สมัครที่มีอายุต่ำกว่า 14 ปี หรืออายุเกิน 79 ปี

ที่มา:

  • https://www.ustraveldocs.com/
  • https://travel.state.gov/
  • https://th.usembassy.gov/
  • https://gradadmissions.mit.edu/costs-funding/expenses
  • https://www.impeloverseas.com/


ติดต่อเดอะเบสท์เพื่อสอบถามข้อมูลการเรียนต่อต่างประเทศเพิ่มเติม

เดอะเบสท์ เป็นศูนย์บริการให้คำปรึกษาเรียนต่อต่างประเทศครบวงจร เราเป็นตัวแทนที่ให้บริการแนะแนวศึกษาต่อต่างประเทศ เช่น ออสเตรเลีย อังกฤษ สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ และ ประเทศอื่นๆ อีก 25 ประเทศทั่วโลก เรายินดีให้ความช่วยเหลือตั้งแต่เริ่มสมัครเรียน จนสำเร็จการศึกษา รวมถึงดูแลนักเรียนระหว่างเรียนจนนักเรียนเรียนจบ ด้วยทีมผู้เชียวชาญในด้านการเรียนต่อต่างประเทศ ที่มีประสบการณ์มากกว่า 10 ปี ขั้นตอนเหล่านี้เราดำเนินการให้ฟรี และเราพร้อมที่จะทำตามคุณภาพ และมาตรฐานดังสโลแกนที่ว่า “We are Quality”

บริการของเรามีอะไรบ้าง ?

  • ฟรี!! บริการให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเรียนต่อต่างประเทศทุกระดับชั้นทั่วโลก เราให้คำแนะนำในการเรียนต่อต่างประเทศ ทุกระดับชั้น ทั่วโลก ตั้งแต่ โรงเรียนประถม โรงเรียนมัธยม สถาบันวิชาชีพ และสถาบันในระดับอุดมศึกษา รวมถึงหลักสูตรภาษาต่างประเทศ และเลือกสถาบันที่ดีที่สุดให้กับผู้เรียน
  • เราให้ความช่วยเหลือตั้งแต่การประสานงานโรงเรียน เลือกโรงเรียนให้เหมาะสมกับความต้องการของผู้เรียน เตรียมเอกสารสมัครเรียน และดำเนินเรื่องสมัครเรียนให้ฟรี
  • บริการเตรียมเอกสารยื่นวีซ่าครบวงจร และบริการยื่นวีซ่ากว่า 25 ประเทศทั่วโลก พร้อมวิเคราะห์ข้อมูลของลูกค้าอย่างตรงจุด และแนะนำวิธีการเตรียมตัวในการสัมภาษณ์วีซ่า : เป้าหมายของเราคือต้องการให้ลูกค้าทุกท่านประสบความสำเร็จ
  • บริการแปลเอกสาร ภาษาไทย – ภาษาอังกฤษ หรือ ภาษาอังกฤษ – ภาษาไทย รวมถึงภาษาที่ 3 ด้วยราคามิตรภาพ เริ่มต้นเพียงแผ่นละ 200 บาท
  • บริการสมัครสอบ IELTS เดอะเบสท์ เป็นตัวแทนรับสมัครสอบ IELTS IDP อย่างเป็นทางการ พร้อมให้คำแนะนำ และนัดวันสอบให้โดยน้องๆ ไม่ต้องเสียเวลาสมัครเอง สมัครสอบได้ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ
  • บริการซื้อประกันภัยการเดินทางและประกันสุขภาพนักเรียนต่างชาติ จากบริษัทประกันชั้นนำ MSIG, NIB, Allianz, Orbit และอื่นๆ
  • บริการจองตั๋วเครื่องบิน ทุกสายการบิน และประสานงานกับสถาบันเกี่ยวกับรถรับ – ส่ง สนามบิน
  • บริการจัดหาที่พักทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นโฮมสเตย์ อพาร์ทเม้น หรือหอพักนักศึกษา จัดหาให้ตามความต้องการส่วนบุคคล

 สอบถามข้อมูลการบริการเพิ่มเติมติดต่อ
โทร: 090-327 3558088-269 5099
Email: contact@thebest-edu.com
Line@thebestedu หรือคลิกเพิ่มเพื่อนด้านล่างได้เลยค่ะ

เพิ่มเพื่อน

  • Advanced Search

Compare Listings