Your search results

ข้อมูลประเทศเนเธอร์แลนด์

ข้อมูลประเทศเนเธอร์แลนด์ (Netherlands)


เนเธอร์แลนด์ (ดัตช์: Nederland [ˈneːdərˌlɑnt] เนเดอร์ลันด์; อังกฤษ: Netherlands) หรือที่มักเรียกกันว่า ฮอลแลนด์ (อังกฤษ: Holland) หรือ ฮอลันดา หรือ วิลันดา เป็นประเทศองค์ประกอบ (constituent country) ของราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ประกอบด้วยสิบสองจังหวัดในยุโรปตะวันตก และสามเกาะในแคริบเบียน เนเธอร์แลนด์ส่วนที่อยู่ในทวีปยุโรปมีอาณาเขตทิศเหนือและตะวันตกจดทะเลเหนือ ทิศใต้จดประเทศเบลเยียม และทิศตะวันออกจดประเทศเยอรมนี และมีพรมแดนทางทะเลร่วมกับเบลเยียม เยอรมนีและสหราชอาณาจักรประเทศเนเธอร์แลนด์เป็นประเทศแรก ๆ ของโลกที่มีรัฐสภาจากการเลือกตั้ง และปกครองด้วยประชาธิปไตยระบบรัฐสภา จัดระเบียบเป็นรัฐเดี่ยว เมืองหลวงของประเทศเนเธอร์แลนด์ตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ คือ อัมสเตอร์ดัม ทว่า ที่ทำการรัฐบาลตั้งอยู่ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ทั้งหมดมักเรียกว่า “ฮอลแลนด์” ซึ่งในการใช้อย่างเข้มงวดจะหมายความถึงจังหวัดนอร์ทฮอลแลนด์และเซาท์ฮอลแลนด์เท่านั้น ถือกันว่าการใช้แบบแรกนั้นไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นทางการขึ้นอยู่กับบริบท ทว่าเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปเมื่อหมายถึงฟุตบอลทีมชาติ

ภูมิศาสตร์

ประเทศเนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่มีพื้นที่ต่ำ โดย 20% ของพื้นที่อยู่ และ 21% ของประชากรอาศัยอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล และ 50% ของพื้นที่อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลไม่เกินหนึ่งเมตรซึ่งลักษณะเด่นนี้เป็นที่มาของชื่อประเทศ ในภาษาดัตช์ อังกฤษและภาษาอื่นของยุโรปอีกหลายภาษา ชื่อประเทศหมายถึง “แผ่นดินต่ำ” หรือ “กลุ่มประเทศแผ่นดินต่ำ” พื้นที่ส่วนใหญ่ที่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลเกิดจากฝีมือมนุษย์ ซึ่งเกิดจากการสกัดพีต (peat) อย่างกว้างขวางและมีการควบคุมไม่ดีหลายศตวรรษทำให้พื้นผิวต่ำลงหลายเมตร แม้ในพื้นที่น้ำท่วมถึง การสกัดพีตยังดำเนินต่อไปโดยการขุดลอกพื้นที่ ตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16 เริ่มมีการฟื้นสภาพที่ดินและปัจจุบันมีการสงวนพื้นที่โพลเดอร์ (polder) ขนาดใหญ่ด้วยระบบการระบายน้ำที่ซับซ้อนซึ่งมีทั้งพนัง คลองและสถานีสูบ พื้นที่เกือบ 17% ของประเทศเป็นพื้นที่ที่เกิดจากการถมทะเล พื้นที่บริเวณกว้างของเนเธอร์แลนด์เกิดจากชะวากทะเลของแม่น้ำสำคัญของทวีปยุโรปสามสายและลำน้ำแตกสาขาเกิดเป็นสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไรน์–เมิซ–ซเกลดะ (Rhine–Meuse–Scheldt delta) พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศเป็นที่ราบ ยกเว้นเนินเขาทางตะวันออกเฉียงใต้และเทือกเขาเตี้ย ๆ หลายเทือกทางตอนกลาง

สภาพภูมิประเทศเป็นที่ราบกว้างใหญ่ พื้นที่ส่วนใหญ่เคยเป็นน้ำทะเลมาก่อนดังนั้นประเทศนี้จึงอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล มีเพียงทางตะวันออกเฉียงใต้ในเขตลิมเบิร์ก เท่านั้นสามารถพบเห็นเนินเขาได้ แม่น้ำไรน์ที่ไหลมาจากเยอรมนี เป็นแม่น้ำสายสำคัญของประเทศ เนื่องจากเป็นประเทศต่ำกว่าระดับน้ำทะเลจึงทำให้ต้องสร้างเขื่อน เพื่อไม่ให้นำทะเลไหลท่วมได้ เนื่องจากเนเธอร์แลนด์มีที่ตั้งอยู่ชายฝั่งทะเลเหนือ จึงได้รับอิทธิพลของกระแสน้ำอุ่นด้วย ทำให้ภูมิอากาศของประเทศอบอุ่นกว่าประเทศอื่นๆในยุโรป และมีฝนตกชุกในช่วงฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วง มากถึง 700 มิลลิเมตรต่อปี

สภาพภูมิอากาศ

  • ฤดูหนาว ช่วงเดือนธันวาคม ถึง เดือนกุมภาพันธ์

มีอากาศหนาวเย็นแต่ไม่เป็นน้ำแข็งโดยมีอุณหภูมิเฉลี่ยรายวันอยู่ที่ประมาณ 3 ° C (37 ° F) นั่นคือประมาณจุดเยือกแข็ง (0 ° C หรือ 32 ° F) ในเวลากลางคืนและประมาณ 6 ° C (43 ° F)

  • ฤดูใบไม้ผลิ ช่วงเดือนมีนาคม ถึง พฤษภาคม

เป็นฤดูที่อากาศเย็นโดยมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ ในเดือนเมษายนยังคงมีอากาศหนาวเย็นบ่อยโดยมีอุณหภูมิสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 10 ° C (50 ° F) แต่สภาพอากาศแบบนี้อาจเกิดขึ้นได้จนถึงครึ่งแรกของเดือนพฤษภาคม ในเดือนพฤษภาคมอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยยังคงอยู่ที่ประมาณ 17 ° C (63 ° F)

  • ฤดูร้อน ช่วงเดือนมิถุนายน ถึง เดือนสิงหาคม

อุณหภูมิโดยทั่วไปอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ดวงอาทิตย์ไม่ส่องแสงบ่อยนัก วันที่อากาศเย็นและฝนตกค่อนข้างบ่อยโดยมีอุณหภูมิสูงสุดต่ำกว่า 20 ° C (68 ° F)

  • ฤดูใบไม้ร่วง ช่วงเดือนกันยายน ถึง เดือนพฤศจิกายน

เป็นช่วงที่อากาศดีในเดือนกันยายนโดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกในขณะที่ต่อมาอากาศจะหนาวเย็นลงเรื่อย ๆ มีเมฆมากและมีฝนตกโดยมีลมพัดบ่อย

โซนเวลา

เนเธอร์แลนด์มี 2 โซนเวลา แผ่นดินใหญ่ในยุโรปของประเทศรวมถึงเมืองหลวงอัมสเตอร์ดัมสังเกตเวลายุโรปกลาง (CET) เป็นเวลามาตรฐาน เมื่อเวลาออมแสง (DST) มีผลบังคับใช้เวลาฤดูร้อนของยุโรปกลาง (CEST) และการขึ้นต่อกันของประเทศพื้นที่เกาะในทะเลแคริบเบียนล้วนอยู่ในเขตเวลาเดียวกัน: เวลามาตรฐานแอตแลนติก (AST) ซึ่งช้ากว่าเวลาสากลเชิงพิกัด (UTC) 4 ชั่วโมง

การเมืองการปกครอง

ประเทศเนเธอร์แลนด์ปกครองในระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ ค.ศ. 1815 และมีระบบรัฐสภาตั้งแต่ ค.ศ. 1848 มีสมเด็จพระราชาธิบดีวิลเลิม-อเล็กซานเดอร์แห่งเนเธอร์แลนด์ พระมหากษัตริย์แห่งเนเธอร์แลนด์ทรงเป็นประมุขของประเทศและทรงอยู่เหนือการเมือง และเป็นประเทศที่เปิดเสรีทางความคิดมาอย่างช้านาน นับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 18 เช่นการเปิดรับคริสตจักรปฏิรูปให้ได้รับการยอมรับเช่นเดียวกับนิกายคาทอลิก โปรเตสแตนท์ จนถึงการยอมรับศาสนายูดาห์ นอกจากนี้ เนเธอร์แลนด์ยังเปิดเสรีกัญชาเพื่อความบันเทิง การออกกฎหมายรองรับการค้าประเวณี สิทธิเพศทางเลือก การุณยฆาต และการแท้ง

รัฐและดินแดน

ประเทศเนเธอร์แลนด์แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 12 จังหวัด (provincie) โดยแต่ละจังหวัดแบ่งเขตการปกครองออกเป็นเทศบาล (gemeenten) รวมแล้วเป็นจำนวนกว่า 355 เทศบาลแต่หากแบ่งตามเขตการบริหารจัดการน้ำจะแบ่งออกเป็น 21 เขตโดยแต่ละเขตมีคณะกรรมการน้ำ (waterschap) เป็นผู้ดูแล ซึ่งเขตการจัดการน้ำนี้มีมาก่อนการก่อตั้งประเทศเนเธอร์แลนด์เสียอีก โดยเริ่มตั้งแต่ ค.ศ. 1196 มีการเลือกตั้งคณะกรรมการทุก 4 ปี จังหวัดต่าง ๆ ในเนเธอร์แลนด์ ได้แก่

  • เดรนเทอ (ดัตช์: Drenthe) เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศเนเธอร์แลนด์ มีเมืองหลวงอยู่ที่อาสเซิน จังหวัดเดรนเทอมีพรมแดนทางตอนใต้ติดกับจังหวัดโอเฟอไรส์เซิล ทางตะวันตกติดกับจังหวัดฟรีสลันด์ ทางเหนือติดกับจังหวัดโกรนิงเงิน และทางตะวันออกติดกับประเทศเยอรมนี
  • เฟลโฟลันด์ (ดัตช์: Flevoland) เป็นจังหวัดในประเทศเนเธอร์แลนด์ ตั้งอยู่ตอนกลางของประเทศ ก่อตั้งเป็นจังหวัดเมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1986 เมื่อเขตเฟลโฟโปลเดอร์สตะวันออกและใต้ผนวกรวมกันเป็นจังหวัดเดียวกัน อยู่ทางตอนกลางของประเทศ เป็นจังหวัดที่ 12 ของประเทศ มีประชากรราว 422,202 คน (ค.ศ. 2019) ประกอบด้วย 6 เทศบาล โดยมีเมืองเลลีสตัดเป็นเมืองหลวงของจังหวัด และมีเมืองอัลเมเรอเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุด และเฟลโฟลันด์มีพื้นที่ติดกับจังหวัดฟรีสลันด์ทางตอนเหนือ จังหวัดโอเฟอไรส์เซิลทางตะวันออกเฉียงเหนือ ทางตะวันตกจรดกับอ่าวมาร์เกอร์เมร์และไอส์เซิลเมร์และ และติดกับจังหวัดเกลเดอร์ลันด์ทางตะวันออกเฉียงใต้
  • ฟรีสลันด์ (ดัตช์: Friesland) หรือ ฟริสลอน (ฟรีเชียตะวันตก: Fryslân) เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศเนเธอร์แลนด์ มีเมืองหลักอยู่ที่เลวาร์เดิน ทิศเหนือจรดทะเลเหนือ ทิศตะวันออกติดต่อกับจังหวัดโกรนิงเงินและจังหวัดเดรนเทอ ทิศใต้ติดต่อกับจังหวัดโอเฟอไรส์เซิลและจังหวัดเฟลโฟลันด์ ทิศตะวันตกติดต่อกับจังหวัดนอร์ทฮอลแลนด์
  • เกลเดอร์ลันด์ (ดัตช์: Gelderland) เป็นจังหวัดในประเทศเนเธอร์แลนด์ ตั้งอยู่ตอนกลาง-ตะวันออกของประเทศ มีมาตั้งแต่จักรวรรดิโรมัน เมืองหลักของจังหวัดชื่อเมืองอาร์เนม มีเมืองสำคัญอื่นเช่นเมืองไนเมเคินและอาเพลโดร์นที่มีขนาดใกล้เคียงกัน จังหวัดเกลเดอร์ลันด์เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ มีพื้นที่ราว 5,136 ตารางกิโลเมตรโดยมีผืนน้ำ 169 ตารางกิโลเมตร มีประชากร 2,084,478 คนเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2019
  • โกรนิงเงิน (ดัตช์: Groningen) เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือสุดของประเทศเนเธอร์แลนด์ มีเมืองหลวงชื่อเดียวกันคือเมืองโกรนิงเงิน จังหวัดโกรนิงเงินมีพรมแดนทางตะวันออกติดกับรัฐโลว์เออร์แซกโซนีของประเทศเยอรมนี ทางตอนใต้ติดกับจังหวัดเดรนเทอ ทางตะวันตกติดกับจังหวัดฟรีสลันด์ และทางเหนือติดกับทะเลวัดเดิน มีประชากร 585,881 คน (ค.ศ. 2019)[3] และมีพื้นที่ 2960 ตารางกิโลเมตร และในอดีต เคยเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรแฟรงก์ จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ และสาธารณรัฐดัตช์ตามลำดับ ก่อนจะกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ในปัจจุบัน นอกจากนี้ ในคริสต์ศตวรรษที่ 14 โกรนิงเงินเคยเป็นส่วนหนึ่งของสันนิบาตฮันเซอ ที่มีอิทธิพลในการค้าขายแถบทะเลบอลติกอีกด้วย
  • ลิมบูร์ก (ดัตช์: Limburg) เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้สุดในบรรดาสิบสองจังหวัดของประเทศเนเธอร์แลนด์ จังหวัดลิมบูร์กมีพรมแดนทางตอนใต้และบางส่วนทางตะวันตกติดกับประเทศเบลเยียม โดยมีแม่น้ำเมิซกั้นระหว่างสองประเทศ พรมแดนบางส่วนทางตะวันตกติดกับจังหวัดนอร์ทบราบันต์ และทางเหนือติดกับจังหวัดเกลเดอร์ลันด์ ทางตะวันออกติดกับรัฐนอร์ทไรน์-เว็สท์ฟาเลินในประเทศเยอรมนี เมืองหลวงและเมืองใหญ่ที่สุดของจังหวัดคือ มาสทริชท์
  • นอร์ทบราแบนต์ หรือ โนร์ดบราบันต์ (อังกฤษ: North Brabant; ดัตช์: Noord-Brabant) เป็นจังหวัดในประเทศเนเธอร์แลนด์ ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศ ทางทิศใต้จรดจังหวัดแอนต์เวิร์ปและจังหวัดลิมบูร์กของประเทศเบลเยียม ทางทิศเหนือจรดแม่น้ำมาส ทางทิศตะวันออกจรดจังหวัดลิมบูร์ก และทางทิศตะวันตกจรดจังหวัดเซลันด์
  • นอร์ทฮอลแลนด์ (อังกฤษ: North Holland) หรือ โนร์ด-โฮลลันด์ (ดัตช์: Noord-Holland) เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศเนเธอร์แลนด์ มีอาณาเขตติดกับทะเลเหนือทางตอนเหนือ และติดจังหวัดเซาท์ฮอลแลนด์และยูเทรกต์ทางตอนใต้
  • โอเฟอไรส์เซิล (ดัตช์: Overijssel, Overissel) เป็นจังหวัดในประเทศเนเธอร์แลนด์ ตั้งอยู่ตอนกลาง-ตะวันออกของประเทศ ความหมายของชื่อคือ “พื้นที่แนวแม่น้ำไอส์เซิล” ซึ่งเป็นมุมมองจากราชรัฐมุขนายกยูเทรกต์ผู้ปกครองในสมัยกลาง เมืองหลักของจังหวัดคือเมืองซโวลเลอ และเมืองที่ใหญ่ที่สุดคือเมืองเอ็นสเคอเด
  • เซาท์ฮอลแลนด์ (อังกฤษ: South Holland) หรือ เซาด์-โฮลลันด์ (ดัตช์: Zuid-Holland) เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลเหนือ ทางตะวันตกของประเทศเนเธอร์แลนด์ เมืองหลักของจังหวัดคือเมืองเดอะเฮก และเมืองที่ใหญ่ที่สุดคือรอตเทอร์ดาม จังหวัดเซาท์ฮอลแลนด์เป็นหนึ่งในที่ที่มีความหนาแน่นประชากรมากที่สุดในโลก และเป็นแหล่งอุตสาหกรรม มีประชากร 3,705,625 คน[1] (1 พฤศจิกายน ค.ศ. 2019) มีพื้นที่ 3,419 ตารางกิโลเมตร เป็นจังหวัดที่มีความหนาแน่นของประชากรมากที่สุดในเนเธอร์แลนด์ ตั้งอยู่บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไรน์-เมิซ-สเกลต์ จึงเป็นที่ตั้งของท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป คือ ท่าเรือรอตเทอร์ดาม
  • ยูเทรกต์ (อังกฤษและดัตช์: Utrecht, อ่านออกเสียงว่า อือเตร็คต์ ในภาษาดัตช์) เป็นจังหวัดที่เล็กที่สุดของประเทศเนเธอร์แลนด์ ตั้งอยู่ในตอนกลางของประเทศ มีเขตแดนทางทิศเหนือจรดทะเลสาบเอมเมร์ ทางทิศตะวันออกจรดจังหวัดเกลเดอร์ลันด์ ทางทิศใต้จรดแม่น้ำไรน์ ทางทิศตะวันตกจรดจังหวัดเซาท์ฮอลแลนด์ และทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือจรดจังหวัดนอร์ทฮอลแลนด์ เมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2019 มีประชากร 1,353,596 คน[1] นอกจากเมืองหลวงยูเทรกต์ประจำจังหวัดแล้ว ยังมีเมืองใหญ่อีกหลายเมือง เช่น อาเมอร์สโฟร์ต เวเนนดาล เฮาเทิน นิวเวอเกน ไอส์เซิลสเตน และเซสท์ สถานีกลางยูเทรกต์ยังเป็นสถานีรถไฟใหญ่ที่มีผู้ใช้บริการมากที่สุดในเนเธอร์แลนด์อีกด้วย
  • เซลันด์ (ดัตช์: Zeeland) หรือ ซีแลนด์ (อังกฤษ: Zeeland, Zealand) เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศเนเธอร์แลนด์ มีอาณาเขตติดกับจังหวัดนอร์ทบราบันต์ทางตะวันออกและจังหวัดเซาท์ฮอลแลนด์ทางเหนือ ประกอบด้วยเกาะหลายเกาะจึงเป็นที่มาของชื่อจังหวัดว่า “ดินแดนทะเล” เนื้อที่ราวหนึ่งในสามอยู่ในน้ำ

นอกเหนือจาก 12 จังหวัดแล้ว เนเธอร์แลนด์ยังมีดินแดนในแถบทะเลแคริบเบียนอีก 3 เกาะที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของเนเธอร์แลนด์แอนทิลลีสก่อนที่จะล่มสลายในปี ค.ศ. 2010 และรวมตัวเป็น แคริบเบียนเนเธอร์แลนด์ ขึ้นตรงกับประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยแต่ละเกาะมีสิทธิปกครองพิเศษ (openbare lichamen) และเทศบาลย่อยในเกาะเหล่านี้จะเรียกว่า เทศบาลรูปแบบพิเศษ (special municipalities) ได้แก่

  • โบแนเรอ (ดัตช์: Bonaire, ออกเสียง: [boːˈnɛːr(ə)])[3] หรือ บูเนย์รู (ปาเปียเมนตู: Boneiru, ออกเสียง: [buˈneiru]) เป็นเทศบาลรูปแบบพิเศษของประเทศเนเธอร์แลนด์[4] เมื่อรวมเกาะนี้กับเกาะอารูบาและกือราเซา เรียกว่าหมู่เกาะเอบีซีแห่งหมู่เกาะลีเวิร์ดแอนทิลลีส และโบแนเรอเคยเป็นส่วนหนึ่งของเนเธอร์แลนด์แอนทิลลีส จนกระทั่งเนเธอร์แลนด์แอนทิลลีสถูกยุบเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ. 2010[5] จึงแยกออกมาเป็นเทศบาลพิเศษของประเทศเนเธอร์แลนด์
  • ซาบา (ดัตช์: Saba, ออกเสียง: [ˈsaːbɑ]) เป็นเกาะแห่งหนึ่งในหมู่เกาะลีเวิร์ดในทะเลแคริบเบียน และเป็นเทศบาลรูปแบบพิเศษ (เรียกอย่างเป็นทางการว่า “ทบวงการเมือง”) ที่เล็กที่สุดของประเทศเนเธอร์แลนด์ ตัวเกาะส่วนใหญ่ประกอบขึ้นจากเมานต์ซีเนอรี (Mount Scenery) ซึ่งเป็นภูเขาไฟที่อาจยังมีพลัง ด้วยความสูง 887 เมตร ภูเขาลูกนี้จึงเป็นจุดที่สูงที่สุดในราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์
  • ซินต์เอิสตาซียึส (ดัตช์: Sint Eustatius, ออกเสียง: [sɪntøsˈtaːt͡siʏs]) หรือที่คนในท้องถิ่นเรียกกันเล่น ๆ ว่า สเตเชีย (อังกฤษ: Statia) และ สตาซียึส (ดัตช์: Statius) เป็นเกาะเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในทะเลแคริบเบียน และเป็นเทศบาลรูปแบบพิเศษ (เรียกอย่างเป็นทางการว่า “ทบวงการเมือง”) ของประเทศเนเธอร์แลนด์ และเกาะซินต์เอิสตาซียึสตั้งอยู่บริเวณส่วนเหนือของหมู่เกาะลีเวิร์ดในภูมิภาคเวสต์อินดีส ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของหมู่เกาะเวอร์จิน ใกล้ ๆ กันนั้นมีเกาะเซนต์คิตส์ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ และมีเกาะซาบาตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะ เมืองหลักของซินต์เอิสตาซียึสคือโอรันเยอสตัด

โครงสร้างทางเศรษฐกิจ

  • เศรษฐกิจของประเทศเนเธอร์แลนด์ มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 17 ของโลกเมื่อคิดตามผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) จากรายงานของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ มีจีดีพีต่อคนอยู่ที่ราว ๆ 48,860 ดอลลาร์สหรัฐในปีงบประมาณ 2017/18 จีดีพีของประเทศเติบโตราวร้อยละ 4 ระหว่างช่วง ค.ศ. 1996 ถึง 2000 ก่อนจะลงมาในช่วง 5 ปีต่อมา และลงมาอยู่ที่การเติบโตร้อยละ 3-4 ในช่วง ค.ศ. 2006 ถึง 2007 จากพิษเศรษฐกิจจากเหตุการณ์วิกฤติหนี้สาธารณะยุโรป
  • หลังการค้นพบก๊าซธรรมชาติเมื่อปี ค.ศ. 1959 เนเธอร์แลนด์ขุดเจาะและส่งออกมานับแต่นั้นโดยมีก๊าซธรรมชาติคิดเป็นร้อยละ 25 ของปริมาณสำรองในสหภาพยุโรป เป็นทรัพยากรที่สร้างรายได้มหาศาลให้กับเนเธอร์แลนด์หลายทศวรรษที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม การเติบโตของอุตสาหกรรมก๊าซธรรมชาติก็มีผลกระทบกับเศรษฐกิจภาคส่วนอื่นเช่นกันหรือที่รู้จักกันในทางเศรษฐศาสตร์ว่า โรคดัตช์
  • เนเธอร์แลนด์มีระบบเศรษฐกิจที่เปิดและมั่งคั่ง ขึ้นอยู่กับการค้าระหว่างประเทศค่อนข้างมาก มีอุตสาหกรรมที่เข้มแข็ง อัตราการจ้างงานและอัตราเงินเฟ้อต่ำ ดุลบัญชีเกินสะพัดสูง และเป็นศูนย์กลางทางการคมนาคมของยุโรปโดยมีท่าเรือรอตเทอร์ดามเป็นท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดของยุโรป ท่าอากาศยานนานาชาติสคิปโฮลเป็นท่าอากาศยานขนาดใหญ่ของยุโรป อุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ ได้แก่ อาหารแปรรูป เคมีภัณฑ์ การกลั่นปิโตรเลียม เทคโนโลยีขั้นสูง การบริการด้านการเงิน บันเทิง และเครื่องจักรอิเล็กทรอนิกส์ ภาคการเกษตรมีแรงงานเพียงร้อยละ 2 ของแรงงานทั้งประเทศแต่สร้างผลผลิตส่วนเกินมหาศาลสำหรับการแปรรูปอาหารและการส่งออก เนเธอร์แลนด์ยังเป็นหนึ่งใน 11 ประเทศที่เริ่มใช้เงินสกุลยูโรเมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2002

ศาสนา

ในปี ค.ศ. 2015 สำนักงานสถิติแห่งชาติเนเธอร์แลนด์ระบุว่า ร้อยละ 50.1 ประกาศตนเองว่าไม่นับถือศาสนาใด ส่วนอีกร้อยละ 43.8 นับถือศาสนาคริสต์ แบ่งเป็นนิกายคาทอลิกร้อยละ 23.7 นิกายโปรเตสแตนท์(ในคริสตจักรโปรเตสแตนท์แห่งเนเธอร์แลนด์) ร้อยละ 15.5 และนิกายอื่นๆร้อยละ 4.6 ส่วนศาสนาอื่น มีผู้นับถืออิสลามร้อยละ 4.9 และศาสนาอื่นๆรวมทั้งฮินดู พุทธ และยูดายอีกร้อยละ 1.1 แต่เดิม ราชวงศ์ของเนเธอร์แลนด์นับถือศาสนาคริสต์ลัทธิคาลวินก่อนจะเปลี่ยนเป็นคริสตจักรโปรเตสแตนท์แห่งเนเธอร์แลนด์ ส่วนในจังหวัดทางใต้ (นิยมหมายถึงพื้นที่ฝั่งใต้ของแม่น้ำไรน์และเมิส) เช่น นอร์ทบราบันต์และลิมบูร์ก ประชาชนนับถือนิกายโรมันคาทอลิกมาแต่โบราณ ทำให้คริสตจักรคาทอลิกยังเป็นที่ศรัทธาของประชนชนทางใต้อยู่เป็นจำนวนมาก

สกุลเงิน

กิลเดอร์ดัตช์ (อังกฤษ: Dutch guilder) หรือ คึลเดิน (ดัตช์: gulden) ใช้สัญลักษณ์ ƒ หรือ fl. เป็นสกุลเงินที่ใช้กันในประเทศเนเธอร์แลนด์มาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 17 จนกระทั่งถึงปี ค.ศ. 2002 เมื่อมาแทนที่ด้วยยูโร ระหว่างปี ค.ศ. 1999 ถึงปี ค.ศ. 2002 กิลเดอร์เป็น “หน่วยย่อยของชาติ” (national subunit) ของเงินยูโร แต่การจ่ายเงินจริงยังต้องทำกันเป็นกิลเดอร์เพราะเงินและเหรียญยูโรยังไม่มีในขณะนั้น แต่เนเธอร์แลนด์แอนทิลลีสยังคงใช้เงินตราดัตช์กิลเดอร์แอนทิลลีสอยู่ ในปี ค.ศ. 2004 กิลเดอร์ซูรินาม (เนเธอร์แลนด์เกียนา) ก็ถูกแทนที่ด้วยเงินสกุลดอลลาร์ซูรินาม

เชื้อชาติ

ประเทศเนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่มีประชาชนหลายเชื้อชาติเข้ามาอยู่อาศัย ดังนี้

  • เชื้อชาติ ดัตช์ ร้อยละ 80.9
  • เชื้อชาติ เยอรมัน ร้อยละ 2.4
  • เชื้อชาติ อินโดนีเซีย ร้อยละ 2.4
  • เชื้อชาติ เติร์ก ร้อยละ 2.2
  • เชื้อชาติ ซูรินาม ร้อยละ 2
  • เชื้อชาติ โมร็อกโก ร้อยละ 1.9
  • เชื้อชาติ ชาวแอนทิลลีสและชาวอารูบา   ร้อยละ 0.8
  • เชื้อชาติ อื่น ๆ ร้อยละ 7.4

วัฒนธรรม

วัฒนธรรมของเนเธอร์แลนด์มีความหลากหลายสะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างในระดับภูมิภาครวมทั้งอิทธิพลจากต่างชาติที่สร้างขึ้นโดยจิตวิญญาณแห่งการค้าขายและการแสวงหาประโยชน์ของชาวดัตช์หลายศตวรรษ เนเธอร์แลนด์และประชาชนมีบทบาทสำคัญในฐานะศูนย์กลางของลัทธิเสรีนิยมทางวัฒนธรรมและความอดทนอดกลั้นมานาน ยุคทองของชาวดัตช์ได้รับการยกย่องว่าเป็นจุดสูงสุด

ภาษา

ภาษาราชการของเนเธอร์แลนด์คือภาษาดัตช์ซึ่งประชากรส่วนใหญ่ของประเทศสามารถพูดได้ ทั้งนี้จังหวัดฟรีสลันด์ทางตอนเหนือยังยอมรับภาษาฟรีเชียตะวันตกเป็นภาษาราชการภาษาที่สอง นอกจากนี้ยังมีการรับรองภาษาสำเนียงท้องถิ่นที่มีรากมาจากภาษาเยอรมันต่ำตามท้องที่ต่างๆที่มีชายแดนติดกับประเทศเยอรมนีอีกด้วย เช่น ทเวนเตอ เดรนเทอ และลิมบูร์ก และชาวดัตช์มีค่านิยมในการเรียนภาษาต่างประเทศมาตั้งแต่สมัยโบราณซึ่งมีบทบัญญัติไว้ในกฎหมายของเนเธอร์แลนด์อีกด้วย ประชากรกว่าร้อยละ 90 เชื่อว่าตนสามารถพูดภาษาอังกฤษได้และร้อยละ 70 สามารถพูดภาษาเยอรมนีได้ ส่วนคนที่พูดภาษาฝรั่งเศสได้มีร้อยละ 29 ภาษาอังกฤษเป็นภาษาบังคับในหลักสูตรมัธยมศึกษา และหลายโรงเรียนมักจะบังคับให้เรียนภาษาต่างประเทศอีกหนึ่งภาษาตั้งแต่ช่วงสองปีแรกของมัธยมต้น

การคมนาคม

  • ระบบการสัญจรในประเทศเนเธอร์แลนด์เติบโตขึ้นอย่างมากตั้งแต่ปี ค.ศ. 1950 โดยปัจจุบันมีการใช้รถยนต์คิดเป็นราว ๆ ครึ่งหนึ่งของการคมนาคมทั้งหมด รองลงมาเป็นการใช้จักรยานร้อยละ 25 การเดินร้อยละ 20 และการขนส่งสาธารณะร้อยละ 5 เนเธอร์แลนด์มีโครงข่ายถนนยาว 139,295 กิโลเมตร มีทางด่วนพิเศษยาว 2,758 กิโลเมตร นับเป็นประเทศที่มีระบบถนนหนาแน่นที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
  • การขนส่งสาธารณะที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือรถไฟ โดยเนเธอร์แลนด์มีระบบโครงข่ายรถไฟยาวกว่า 3,013 กิโลเมตรและถักทอกันอย่างค่อนข้างหนาแน่น ทำหน้าที่เชื่อมต่อเมืองใหญ่ต่าง ๆ เข้าด้วยกัน มีสถานีทั้งหมดกว่า 400 สถานี แต่ละเส้นจะมีรถไฟวิ่งอย่างน้อย 2 ขบวนต่อชั่วโมงและเฉลี่ยอยู่ที่ 2-4 ขบวนต่อชั่วโมงในการให้บริการนั้น บริษัทรถไฟ NS ของรัฐเป็นผู้ให้บริการหลักในประเทศ และยังมีรถไฟระหว่างประเทศเชื่อมต่อกับเบลเยียม ฝรั่งเศส เยอรมนี และอังกฤษอีกด้วย
  • จักรยาน เป็นอีกพาหนะหนึ่งที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กันในเนเธอร์แลนด์ มีการประมาณตัวเลขไว้ว่าชาวเนเธอร์แลนด์มีจักรยานรวมราว ๆ 18 ล้านคัน หรือหนึ่งคันเศษๆต่อประชากรหนึ่งคน นอกจากนี้เนเธอร์แลนด์มักจะถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่เป็นมิตรกับผู้ใช้จักรยานอยู่เป็นอันดับต้นๆร่วมกับเดนมาร์กอยู่เสมอ โดยชาวดัตช์นิยมปั่นจักรยานไปทำงานอยู่เป็นประจำเพราะมีเส้นทางที่ทำแยกไว้สำหรับจักรยานโดยเฉพาะยาวถึง 35,000 กิโลเมตร และในหลายจุดยังมีสัญญาณไฟจราจรที่ทำไว้สำหรับจักรยานโดยเฉพาะอีกด้วย
  • ท่าเรือรอตเทอร์ดามเป็นท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป ตั้งอยู่ปากแม่น้ำเมิสและแม่น้ำไรน์ซึ่งเชื่อมต่อเมืองสำคัญในหลายประเทศ ทั้งเยอรมนี เบลเยียม ฝรั่งเศส และสวิตเซอร์แลนด์ อุตสาหกรรมหลักที่ใช้บริการท่าเรือแห่งนี้คืออุตสาหกรรมปิโตรเลียมและการขนส่งสินค้าทั่วไป มีเรือเดินสมุทร เรือแม่น้ำ รถไฟ และรถบรรทุกเข้ามาถ่ายเปลี่ยนสินค้าอยู่ตลอดเวลา
  • ท่าอากาศยานอัมสเตอร์ดัมสคิโพล ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอัมสเตอร์ดัม เป็นท่าอากาศยานหลักของประเทศ และเป็นท่าอากาศยานที่มีผู้ใช้บริการมากที่สุดเป็นอันดับสามในยุโรป รองรับผู้โดยสารกว่า 70 ล้านคนในปี ค.ศ. 2016

ปัจจุบัน รัฐบาลเนเธอร์แลนด์มีแผนติดตั้งสถานีชาร์ตไฟสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าทั่วประเทศกว่า 200 สถานี โดยมีบริษัท ABB และ Fastned เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการ โดยมีแผนจะติดตั้งให้มีอย่างน้อย 1 สถานีในระยะรัศมี 50 กิโลเมตรจากบ้านทุกหลักในเนเธอร์แลนด์

ระบบน้ำประปา

ตามประกาศของรัฐบาลเนเธอร์แลนด์การดื่มน้ำจากก๊อกน้ำและน้ำพุดื่มสาธารณะในอัมสเตอร์ดัมนั้นปลอดภัย จุดเริ่มต้นของการดื่มน้ำพุและก๊อกน้ำคือในปีค.ศ. 1903 ในช่วงเวลานี้ที่อยู่อาศัยหลายแห่งไม่สามารถเข้าถึงน้ำที่ปลอดภัยได้ รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะจัดหาน้ำดื่มที่ปลอดภัย ปัจจุบันเป็นมุมมองที่แพร่หลายชาวบ้านดื่มน้ำจืดจากก๊อกโดยตรง สะดวกและสดชื่นยิ่งขึ้นโดยเฉพาะเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น

ระบบไฟฟ้า

ในประเทศเนเธอร์แลนด์ (ฮอลแลนด์) ปลั๊กไฟและซ็อกเก็ตเป็นประเภท C และ F แรงดันไฟฟ้ามาตรฐานคือ 230 V และความถี่มาตรฐานคือ 50 Hz

ระบบโทรศัพท์

เนเธอร์แลนด์ หมายเลขโทรศัพท์ รหัสประเทศ +31 และหมายเลข 112 เป็นหมายเลขฉุกเฉินหมายเลขเดียวในเนเธอร์แลนด์

ที่มา:

Wikipedia Website: https://th.wikipedia.org/

Climate Sto Travel Website: https://www.climatestotravel.com/

Time and Date Website: https://www.timeanddate.com/

Can You Drink Tap Water In Website: https://www.canyoudrinktapwaterin.com/

EC Europa Website: https://ec.europa.eu/

  • Advanced Search

Compare Listings